Dynamic Start and Setting Neutral Buoyancy
ในการฝึกดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ ส่วนมากเรามักมีโอกาสน้อยที่จะได้ฝึกในทะเล เพราะคนส่วนมาก พวกเราอาศัยกันอยู่ในเมือง ไกลจากทะเลพอสมควร อย่างผมอยู่แถวนนทบุรี ทะเลใกล้สุด ก็น่าจะเป็นแถวๆ บางเสร่ แสมสาร ขับรถไปอย่างน้อยก็ 2 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาเดินทางบนเรืออีก ดังนั้น การฝึกในสระว่ายน้ำ น่าจะง่าย ใช้เวลาน้อยกว่า และสะดวกกว่ามาก **อย่าลืมว่า การฝึกในสระทุกครั้งควรมี Buddy ด้วย สามารถศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์เพิ่มเติม ได้ที่นี่ ความปลอดภัย
โดยหลักๆ แล้ว การฝึกในสระ หรือที่เรียกว่า Pool Training มีอยู่ 3 รูปแบบได้แก่ Static Apnea (ลอยตัวนิ่งๆกลั้นหายใจ), Dynamic Apnea (กลั้นหายใจและดำน้ำไปตามแนวของสระว่ายน้ำ) และ Constant Weight, Free Immersion สำหรับรูปแบบ (Discipline) ทั้งหมดของ Freedving สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ Freediving คืออะไร
สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึง Dynamic Apnea Discipline การที่เราจะฝึก Dynamic Apnea ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน หรือการทำ Dynamic Start นั่นเอง
Dynamic Start
การเริ่มต้นที่ดีจะทำให้เราประหยัดพลังงาน และ ออกซิเจน สามารถกลั้นหายใจและอยู่ในน้ำได้นานขึ้น ขั้นตอนของการทำ Dynamic Start เป็นดังนี้
- breathe up และทำ final breath ก่อนที่จะเริ่มทำ Dynamic Start
- ยื่นมือและแขนไปด้านหน้าลำตัว โน้มตัวไปด้านหน้า
- ใช้มือชี้ไปยังทิศทางที่ต้องการจะดำไป แขนและมืออยู่เหนือศีรษะ
- ปล่อยให้ร่า่งกายไหลไปสักระยะ ทำ Arm Stroke (Key Hole) 1 ครั้ง เพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งลู่น้ำ (Streamlining)
- รักษาร่างกายให้ลู่น้ำ แขนอยู่ข้างลำตัว ไม่มองไปด้านหน้า ให้มองไปที่พื้น
- ตีฟินตามปกติ ออกแรงจากสะโพก เข่าไม่งอ
** ในกรณีที่น้ำลึก ให้ดำลงไป 1-1.5 เมตรจากผิวน้ำ สำหรับน้ำตื้นให้ดำลงไป เหนือจากพื้น 1-2 ฟุต
Setting Neutral Buoyancy
ในการฝึกในสระ เราจำเป็นต้องปรับน้ำหนัก เพิ่มลด โดยการสวม neck weight หรือ belt เพื่อให้การลอยตัวเป็นกลาง (Neutral Buoyancy) ปกติ เราจะมีภาวะลอยตัวเป็นบวก (positive buoyancy) เพราะอากาศในปอดและโพรงต่างๆภายในร่างกาย ถ้าเราฝึก dynamic Apnea โดยตัวเราลอย เราต้องคอยออกแรงกดตัวเองลงไม่ให้ลอยขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมาก ในทางกลับกัน หากเราใส่ตะกั่วมากเกินไป จนตัวเราจม (Negative Buoyancy) เราก็ต้องคอยดึงตัวเองขึ้นไม่ให้จมถึงพื้น ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องหาจุดที่เป็นกลาง ไม่จม ไม่ลอย (Neutral Buoyancy) โดยถ้าตัวเราลอยมากไป ก็เพิ่มตะกั่ว หรือดำในจุดที่ลึกขึ้น แต่ถ้าตัวเราจมเกินไป ก็ให้ลดน้ำหนัก หรือดำในจุดที่ตื้นขึ้น สำหรับการ Setting Neutral Buoyancy มีขั้นตอนดังนี้
- ทำตามขั้นตอน Dynamic Start
- หลัง จากทำ Arm Stroke ยังไม่ต้องตีฟิน
- ทำตัวให้นิ่ง ไม่ขยับร่างกายส่วนใดๆ
- ปล่อยตัวให้ไหลไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 10 วินาที
- ถ้าเราได้ Neutral ตัวจะไม่จม ไม่ลอย จนเราหยุดนิ่ง
Surface Buoyancy
นอกจากการ Setting Neutral Buoyancy เพื่อการฝึก Dynamic Training แล้ว สำหรับรูปแบบ Constant weight หรือการดำลงใต้น้ำในแนวดิ่งด้วยน้ำหนักคงที่ เราก็ต้องปรับน้ำหนักเพิ่มลด ให้ได้ค่าเป็นกลาง ไม่จมเกินไปหรือไม่ลอยเกินไปเช่นกัน ถ้าเราลอยเกินไป (Too positive buoyancy) ตอนเราดำลงจากผิวน้ำ เราจะต้องใช้แรงเยอะและสูญเสียพลังงานมากในการดำลง ในทางกลับกัน ถ้าเราตัวจมเกินไป การขึ้นสู่ผิวน้ำ จะต้องใช้แรงมาก และอาจก่อให้เกินอันตรายได้ (Lost of motor control, Black out) ส่วนตัวเห็นว่า ตัวลอยเกินไปเล็กน้อย ก็ยังดีกว่า ตัวจมเกินไป เพราะปลอดภัยกว่า สำหรับขั้นตอนในการทำ Surface Buoyancy ทำได้ดังนี้
- ลอยตัวในแนวตั้ง ปลายฟินชี้ลงด้านล่าง แขนแนบลำตัว
- หายใจออกให้หมด พยายามพยุงตัวให้นิ่งที่สุด
- รอสักครู่เพื่อให้ระดับการลอยตัวสมดุล
- ระดับน้ำควรอยู่ระหว่างตาและหน้าผาก
- ถ้าศีรษะลอยพ้นน้ำทั้งศีรษะ ตัวลอยเกินไป ควรเพิ่มน้ำหนัก
- ถ้าศีรษะจม หรือตัวเริ่มจมลง แสดงว่าตัวจมเกินไป นำน้ำหนักออก
สำหรับ Freedive ที่ชำนาญแล้ว สามารถ Set Neutral Buoyancy ได้ โดยการดำลงไปที่ระดับความลึก 10 เมตร และสังเกตดูว่า ตัวไม่จม ไม่ลอย สาเหตุที่เราควรปรับการลอยตัวให้เป็นกลางที่ระดับความลึกประมาณ 10 เมตร เพื่อให้การขึ้นสู่ผิวน้ำ ในช่วง 10 เมตรสุดท้าย ตัวนักดำน้ำลอยเล็กน้อย ทำให้ใช้พลังงานน้อยในการขึ้นสู่ผิวน้ำ และลดความเสี่ยง การหมดสติ ในน้ำตื้น (Shallow water black out)